อนุบาลและประถม

“ข้าพเจ้าเข้าเรียนครั้งแรกเมื่ออายุได้ ๓ ปีเศษ...ระบบของโรงเรียนจิตรลดาในเวลานั้น จัดให้ครูประจำชั้นไปตามนักเรียนจนจบ ม.ศ. ๕ ภายหลังเมื่อมีนักเรียนมากขึ้นจึงจัดครูประจำชั้นไปตามความเหมาะสม...” (๖)

 

“...หรือพูดถึงโรงเรียนนี้มักจะกล่าวเสมอว่าสาเหตุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งโรงเรียนนี้ขึ้น เห็นจะเป็นเพราะทรงเกรงวว่าพวกข้าพเจ้า ๔ คน พี่น้อง ไปเข้าโรงเรียนอื่นครูอาจตามใจ จึงทรงทรงตั้งโรงเรียนเอง...และทรงมอบอำนาจให้ท่านผู้หญิงและคณะให้ควบคุมดุว่า ทำให้พวกข้าพเจ้าเป็นสิทธขาดน่ากลัวยิ่งนัก...

 

...นั้นอาจจะไม่ไช่สาเหตุสำคัญของการตั้งโรงเรียนจิตรลดาในบริเวณพระราชฐาน ข้าพเจ้าไม่เคยกราบบังคมทูลถาม แต่คิดเอาว่าโรงเรียนมีกำเนิดมาด้วยเอาความเอาพระทัยใส่ในเรื่องพัฒนาการของเด็ก การศึกษาของเยาวชนของชาติ จึงมีพระราชประสงค์ที่จะทรงทราบและสังเกตการณ์โดยใกล้ชิด เพื่อที่จะได้พระราชทานคำแนะนำ และพระบรมราชานุเคราะห์ในด้านการศึกษาในทำนองเดียวกับโครงการส่วนพระองค์ด้านการเกษตร...ซึ่งเคยมีพระราชกระแสว่าทรงปฏิบัติด้วยพระองค์เองเช่นนี้ เพื่อจะได้ความรู้ไปโดยชาวบ้านจะได้วิธีการ การสันนิษฐานเช่นนี้สอดคล้องกับการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้โรงเรียนจิตรลดาจดทะเบียนเป็นโรงเรียนราษฏร์ รับใบอนุญาตอย่างถูกกฏหมาย มีเจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการมาตรวจและรองรับวิทยาฐานะ...‛ (๗)

 

“สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธร ทรงเป็นเด็กที่คล่องแคล่ว ทรงทำอะไรได้อย่างรวดเร็ว ไม่ประทับอยู่นิ่งๆ ในที่หนึ่งที่ใดได้นาน ๆ ทรงได้รับพระราชทานฉายาว่า “สลาตัน” จากพระบาทสมเด็จเพระเจ้าอยู่หัว เพราะเวลาเสด็จไหนที่จะทรงปรู๊ด ปร๊าดมา มีลักษณะเหมือนกับสลาตัน” (๘)

 

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงดูแลการเรียนของพระราชธิดาอย่างใกล้ชิด ทำให้ทรงได้รับพระนิสัยทรงโปรดการอ่านทรงอ่านวรรณคดีไทยง่าย ๆ ได้แต่ทรงพระเยาว์และทรงได้รับการส่งเสริมให้ซื้อหนังสือแต่ยังทรงพระเยาว์จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ในกาลต่อมาคราวใดที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศจะต้องเสด็จพระราชดำนเินเยือนร้านหนังสือและเจ้าภาพทั้งหลายก็ขวนขวายหาหนังสือถวายเป็นที่ระลึกยิ่งกว่าสิ่งอื่น ๆ

 

“ข้าพเจ้าเป็นคนชอบภาษาไทย อ่านภาษาไทยได้ค่อนข้างเร็ว... เมื่ออายุ ๖-๗ ขวบ สมเด็จทรงสอนให้อ่านหนังสือวรรณคดีต่าง ๆ จำได้ว่าที่ง่ายและสนุกเหมาะสำหรับการเริ่มต้นคือเรื่อง พระอภัยมณี ต่อด้วยเรื่องอื่น ๆ ได้แก่ อิเหนา และ รามเกียรติ์ เป็นต้น” (๙)

 

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงโปรดฯ ให้พระราชโอรสและพระราชธิดา อ่านหนังสือซึ่งจะช่วยในการสร้างจินตนาการและได้รับความรู้หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยนั้นมีโทรทัศน์อยู่เพียงไม่กี่สถานีเท่านั้น จึงไม่น่าประหลาดใจว่า เมื่อทรงเจริญวัยขึ้น ทรงรอบรู้วิทยาการต่าง ๆ มากมาย และได้ทรงเผยแพร่แก่สาธารณชนด้วยพระราชนิพนธ์ต่าง ๆ หลากหลาย โดยเฉพาะพระราชนิพนธ์เสด็จเยือนนานาประเทศ

 

“สมเด็จแม่โปรดให้เราอ่านหนังสือมากกว่าดูโทรทันศ์มีเหตุผลว่าดูโทรทัศน์ (ซึ่งในตอนนั้นมีอยู่เพียง ๒-๓ ช่อง) เหมือนกับการถูกสะกดจิตให้ต้องดูและฟังรายการที่ผู้จัดรายการเพียงคนเดียวจัดขึ้นในขณะที่หนังสือมีให้เลือกอย่างหลากหลาย นอกจากการอ่านหนังสือหลัก สื่อการศึกษาที่ทรงสนับสนุนคือการไปที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิพิธภัณฑ์...

 

สมเด็จแม่ทรงอ่านหนังสือมาก...ท่านทรงซื้อหนังสือของท่านเอง ทรงซื้อพระราชทานให้ข้าพเจ้าอ่านจนโตก็ยังทำ ทรงแนะนำ การอ่านในใจและการอ่านดัง ๆ ซึ่งมีรับสั่งว่าจะช่วยให้ภาษาพูดของเราดีขึ้น ทรงสนับสนุนจัดตั้งห้องสมุด สะสมหนังสือ (๑๐)

 

“พูดถึงการเป็นนักอ่าน เราจำกันได้ว่าเวลาพักกลางวัน หลังรับประทานอาหารเสร็จจะเห็นทูลกระหม่อมโปรดที่จะเสด็จจะเข้าไปอ่านหนังสือในห้องสมุดบ่อย ๆ เคยทูลถามว่า ทรง ( ติดพระทัย) อ่านหนังสืออะไร ทรงตอบว่า “อ่านทุกอย่าง ตำรายาฟังอ่านเลย” แต่หนังสือที่ติดกันงอมแงมทั้งชั้นก็คือ เรื่อง ไซอิ๋ว (ซึ่งออกเป็นตอน ๆ อาทิตย์ละครั้ง) โตขึ้นมาก็มีเรื่องพลนิกรกับหงวนแล้วก็เรื่อง เพชรพระอุมา” (๑๑)

 

ทรงต้องเรียนพิเศษที่ไม่ใช่การทำการบ้านของโรงเรียน แต่ทรงเรียนภาษาตะวันออกต่าง ๆ ซึ่งได้นำไปใช้ในการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และบัณฑิตศึกษา ที่ทรงทำวิทยานิพนธ์ในด้านภาษาตะวันออกได้อย่างแตกฉาน

 

“วิชาที่ข้าพเจ้าได้เรียนพิเศษหลังจากกลับจากโรงเรียนก่อนเวลาออกกำลังกาย หรือในวันหยุดและช่วงหยุดเทอม ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ภาษาบาลีสันสกกฤต ภาษาเขมร ภาษาลาติน ภาษาฝรั่งเศส เปียโน วาดเขียน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ฯลฯ ทรงเห็นว่าครูไหนดีก็ทรงไปขอร้องให้มาช่วยสอน...”
ไม่ทรงโปรดการเรียนเครื่องดนตรีสากล ในตอนแรก แต่สนพระราชหฤทัยดนตรีไทย ทำให้ดนตรีไทยกลับเป็นที่นิยมขึ้นมา‚พูดถึงเรื่องดนตรีนั้นรู้สึกว่าจะไม่พอพระทัยหรือผิดหวังอยู่บ้างในตอนที่ข้าพเจ้าไร้ความสามารถและความพยายามในการเรียนเปียโน ตอนมาเรียนดนตรีไทยก็ทรงบ่นว่า ตามเพื่อน

 

ต่อมาก็ทรงภาคภูมิพระทัยที่ข้าพเจ้าขับร้องเพลงไทย ...โปรดเกล้าฯ ให้แสดงดนตรีและร้องเพลงถวายอยู่บ่อย ๆ…
เมื่อตอนเล็ก ๆ โดนให้หัดกายบริหาร ซึ่งข้าพเจ้าไม่ชอบ ลองแล้วทั้งครูไทยและครูฝรั่งก็ไม่สำเร็จ ท่านก็ต้องมาทรงสอนเอง ปรากฏว่าท่านต้องสอนไปตะเบ็งไป ‚น้อยๆๆๆๆๆๆๆๆๆ...ปรากฏว่างานนี้ทรงเลิกไปเพระทรงเหนื่อย (กว่าทรงกายบริหารเอง) ให้ข้าพเจ้าไปหัดตีแบดมินตันและ “นับร้อย‛ กับทูลกระหม่อมพ่อแบบพี่ชายโดย (นับร้อย คือ ต้องตีแบดมินตันโต้ทูลกระหม่อมพ่อให้ได้ครบร้อยลูก ถ้าตีไม่ได้ก็ลดคะแนน) (๑๒)

 

แม้จะไม่ทรงโปรดการหัดกายบริหาร แต่ก็โปรดกีฬา แม้แต่ฟุตบอล “...พูดถึงเรื่องกีฬาแล้ว ทูลหม่อมทรงเล่นกีฬาทุกชนิด แม้แต่ฟุตบอลก็โปรดไปเล่นกับเด็กผู้ชายบ่อย ๆ ...มีอยู่สมัยหนึ่งคลั่งฟุตบอลกันมาก...จะซื้อหนังสือกีฬารีวิวมาถวายทุกงวด ซึ่งทูลกระหม่อมโปรดอ่านมาก ทรงติดตามข่าวคราวของทีมฟุตบอลต่าง ๆ ผลการแข่งขัน ตลอดจนประวัติของนักฟุตบอลแต่ละคน จนมีอยู่ครั้งหนึ่งมีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมข้าราชการบริหารกับทีมราชวัลลภที่หัวหิน และได้กราบบังคมทูลขอถ้วยรางวัลทูลหม่อมถึงกับทรงขัดกะลาเอง) เอามาวางแทนที่หล่อด้วยปูนปลาสเตอร์ ทำสีเข้าไปหน่อยก็ดูดี สวยเข้าที... (๑๓)

 

เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่เจ็ด อันถือเป็นชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ทรงได้รับพระราชทานรางวัลดีจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในงานแสดงศิลปะหัตถกรรมนักเรียนครั้งที่ ๑๓ ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๑ เนื่องจากทรงสอบได้ที่หนึ่ง ได้คะแนนร้อยละ ๙๖.๖๐ ซึ่งการสอบครั้งนั้นเป็นการสอบรามทั้งประเทศ โดนใช้ข้อสอบของกระทรวงศึกษาธิการ (๑๔)

มัธยมศึกษา

พระราชวินิจฉัยในการเลือกสาขาวิชาที่จะทรงศึกษาระหว่างสายวิทยาศาสตร์และศิลป-ศาสตร์

“หลายปีมาแล้ว ข้าพเจ้าอยากจะเรียนแผนกวิทยาศาสตร์ และเรียนต่อทางแขนงวิทยาศาสตร์ เพราะข้าพเจ้าชอบวิทยาศาสตร์และคำนวณ ในขณะนั้น ข้าพเจ้านิยมผู้ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์และมีความคิดอย่างเด็ก ๆ ว่าต้องเรียนวิทยาศาสตร์จึงจะเป็นคนฉลาด คนโง่เท่านั้นที่เรียนแผนกศิลป์ แต่แล้วก็ทรงตัดสินพระทัยเลือกสิ่งที่ ทรงเห็นว่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติมากที่สุด ไม่ว่าจะทรงทำอะไร จะทรงมีประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้งเสมอ

 

... ข้าพเจ้าเองก็ยังไม่ทราบ แต่คิดอยากจะเรียนวิชาที่เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองมากที่สุด ท่านจึงแนะนำให้ข้าพเจ้าเรียนภาษาไทย ข้าพเจ้าก็ไม่ขัดข้อง ทางภาษานั้น ข้าพเจ้าชอบแต่วิชาภาษาไทย และเกลียดภาษาอังกฤษที่สุด บิดามารดาข้าพเจ้าอธิบายถึงประโยชน์ของภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษากลางของโลกว่า รู้ภาษาอังกฤษแล้วจะทำให้ค้นคว้าภาษาไทย เผยแพร่วัฒนธรรมไทยก็ดีขึ้นและให้ข้าพเจ้าเรียนพิเศษวิชาภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศสและภาษาลาติน

 

ตั้งแต่นั้นมา ข้าพเจ้าก็ตั้งปณิธานว่าจะเรียนและค้นคว้าทางภาษาไทย ทางวรรณคดี ศิลปะ และวัฒนธรรมและเผยแพร่ความรู้เหล่านั้นให้ผู้อื่นและชาวต่างประเทศทราบ...” (๑๕)

 

ทรงสนพระทัยงานห้องสมุดมาตั้งแต่สมัยทรงเป็นนักเรียน ที่ทรงเป็นประธานชมรมห้องสมุดที่ทรงปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด ความสนพระทัยนี้ ในกาลต่อมาได้ทรงรับสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยไว้ในพระราชูปถัมภ์ ทรงมุ่งมั่นพัฒนาห้องสมุดและในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประประเทศก็จะเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมและทอดพระเนตรงานของห้องสมุดชั้นนำในประเทศ

 

“เมื่อ ‘ทูลกระหม่อมน้อย’ ได้ทรงเจริญวัยเข้าสู่ช่วงศึกษาระดับมัธยม ทรงดำรงตำแหน่งประธานชมรมห้องสมุดปฏิคมและประธานนักเรียนหญิงในปีสุดท้าย จากพระราชกิจเกี่ยวกับห้องสมุด ได้ทรงศึกษาวิธีบริหารงานไปพร้อม ๆ กับเห็นคุณค่างานประพันธ์ ทรงค้นคว้าเอาใจใส่งาน ดูแลจัดเก็บหนังสืออย่างถี่ถ้วน หากใครยืมหนังสือไปนานเกินกำหนดก็จะทรงออกใบปรับ และมิได้ละเว้นเห็นแก่ใครด้วยพระหทัยยุติธรรมไม่ลำเอียง ครั้งหนึ่ง ทรงปรับอาจารย์ใหญ่ (ท่านผู้หญิงทัศนีย์) ด้วยพระพักตร์ที่ยิ้มละไมเช่นเคย...” (๑๖)

 

ในโรงเรียน ท่ามกลางพระสหาย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรฯ ก็ทรงเป็นเหมือนเด็ก ๆ ในวัยเรียนทั่ว ๆ ไป ที่ซุกซน และทำอะไรแผลง ๆ แอบเอาขนมเข้าห้องเรียน แอบอ่านหนังสืออ่านเล่นและทรงร่วมทำทุกอย่างที่บรรดาพระสหายทำ

“ไม่มีใครประจักษ์ ‘ทูลกระหม่อมน้อย’ ในสมัยทรงพระเยาว์ทรงเล่นซุกซนกับพระสหายจอมแก่น แอบทำการฝ่าฝืนกฎของโรงเรียน เช่น ปีนต้นฝรั่ง หรือ ปีนรั้วโรงเรียนด้านหลังตึกสามออกไปทางโรงเลี้ยงช้าง หรือแม้กระทั่งก่อแพล่องเรือไปเก็บมะม่วงที่เกาะกลางแอ่งนํ้าและรวมถึงการขนเศษใบไม้อุดท่อนํ้า ด้วยความหวังว่าถ้านํ้าไม่ไหลผ่านท่อเกิดอุทกภัย จะได้ประกาศหยุดเรียนกะทันหัน อันเป็นความคิดอันซุกซนของเด็กหญิงและเด็กชายตัวเล็ก ๆ ไม่มีใครบอกได้ว่าใครเป็นต้นคิด เพราะทูลกระหม่อมน้อย ทรงรักเพื่อนพ้อง ไม่เคยฟ้องกล่าวถึงความผิดของผู้ใด” (๑๗)

 

“...จากพระราชประวัติสมัยทรงพระเยาว์ตั้งแต่แรกเข้าอนุบาลจนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนจิตรลดา ได้ทำให้เห็นทั้งพระอัจฉริยะภาพทางการศึกษา พระราชจริยาวัตรเกี่ยวกับการอนุรักษ์และศึกษาศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ ของไทย อันได้แก่ วรรณคดีไทย ภาษาไทย ดนตรีไทย คำประพันธ์ไทย และการประพันธ์บทเพลง พระบุคลิกภาพและอุปนิสัยอันดีงาม ส่วนพระองค์ตลอดจนพระราชทัศนคติในด้านการสร้างบทเพลง พระบุคลิกภาพและอุปนิสัยอันดีงาม ส่วนพระองค์ตลอดจนพระราชทัศนคติในด้านการสร้างคุณงามความดี การใฝ่หาความรู้ การยึดถือหลักธรรมแห่งพระพุทธศาสนา การสืบทอดวัฒนธรรมไทยสู่กุลบุตร กุลธิดาไทย การจรรโลงคุณค่าหนังสือเพื่อการศึกษาของเยาวชนอันเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติ และที่จะขาดมิได้คือ การเทิดทูนพระมหากษัตริย์ราชเจ้าและเอกลักษณ์ไทยเอาไว้เพื่อความสุขความเจริญ ความมั่นคงของบ้านเมือง และความภาคภูมิใจในแผ่นดินเกิด ทั้งหมดนี้ทำให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นมิ่งขวัญพระองค์สำคัญพระองค์หนึ่งของจิตรลดาและปวงอาณาประชาราษฎร์ทั่วไป...” (๑๘)

 

“การสอบ ม.ศ.๕ นั้นยังใช้ข้อสอบกระทรวงศึกษาธิการ... แม้จะทรงศึกษาแผนกศิลป์ แต่วิชาคณิตศาสตร์ก็เป็นวิชาที่ทรงทำได้ดีมาก ทำให้ทรงสอบได้เป็นที่ ๑ ของประเทศไทยในแผนกศิลป์ ทรงเรียนรู้จริง แม่นยำในกฎและคิดเก่ง... ทรงสอบได้ที่หนึ่งของประเทศไทย ทรงสอบได้ด้วยพระปัญญา ความสามารถโดยแท้จริง เมื่อทรงเข้ามหาวิทยาลัยแล้วเสด็จมาที่โรงเรียนแล้วรับสั่งกับข้าพเจ้า ”ครูรู้ไหม” ครูรู้ไหม ฉันสอบได้ที่ ๑ เพราะคณิตศาสตร์นะ เมื่อไปเทียบคะแนนกับคนที่ได้ใกล้กันแล้วเขาได้มากกว่าทุกอย่าง แต่พอคณิตศาสตร์ เขาได้ ๖๐ กว่า ฉันได้ ๙๐ กว่า และชนะเลย...” (๑๙)

อุดมศึกษา

ดูเพิ่มเติม: วันวาน ณ เทวาลัย

ในระดับอุดมศึกษา เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนจิตรลดาแล้ว ก็ทรงสอบเข้าศึกษา ซึ่งทรงเลือกเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งนักเรียนสมัยนั้น ต่างก็ตื่นเต้นที่จะได้เข้าร่วมชั้นเรียนกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรฯ ปี ๒๕๑๖ ที่ทรงเข้าศึกษาคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

“... เป็นรุ่นที่เข้าปีแรกก็เจอกับเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ พอดี เรียนไปตามโควตา พอถึงปีที่จบด้วยเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ชุลมุนกันทุกหย่อมหญ้า ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่ถือเป็นประวัติศาสตร์และเกียรติยศในชีวิตเพราะรุ่นนั้นมีนิสิตสำคัญ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธร...” (พระอิสริยศขณะนั้น) (๒๐)

 

เมื่อทรงเข้าคณะอักษรศาสตร์แล้ว ทรงวางพระองค์ได้อย่างงดงาม ไม่ถือพระองค์ ทรงร่วมกิจกรรมทุก ๆ อย่างที่นิสิตอื่น ๆ ทำ “ทูลกระหม่อม” เป็นคำที่พวกเราในคณะเรียกสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรฯ ... “ทูลกระหม่อม” ไม่ทรงถือพระองค์เลยนั่นเอง ใครจะทูลอะไรท่านก็ทรงแย้มพระสรวลตลอด... เอกลักษณ์ของพระองค์ท่าน คือ ต้องมีย่ามมั่ง กระเป๋ามั่ง หนังสือ แฟ้มและอะไรต่อมิอะไรพะรุงพะรังติดพระองค์อยู่เสมอ...” (๒๑)

 

“วันแรกเปิดเทอมทุกคนเกร็งกันมาก ... ประทับอยู่แถวหน้าสุด มีนางกำนัลและ body guards นั่งอยู่ข้างห้องหลายคน ... ประทับนั่งจดเล็คเชอร์ไปสักครู่ก็เริ่มโยกพระเก้าอี้... ทรงโยกช้า ๆ แต่ไป ๆ มา ๆ ทรงโยกมากขึ้น แล้วในที่สุดก็ทรงเอนพระองค์มากเกินไป เล่นเอาพระพักตร์เกือบคะมำ มีเสียงเอะอะขึ้นมาด้านหน้าว่า “ทรงตกเก้าอี้” เท่านั้นเองทุกคนหายเกร็งกันหมด... ทรง break the ice ของการเมือง นิสิตใหม่เรียบร้อยแล้ว เป็นอันว่า ทุกคนกลายเป็น “เพื่อน” ร่วมรุ่นนิสิตอักษรฯ กันไปเรียบร้อยแล้ว โดยไม่มีชั้นใด ๆ มาขวางกั้น” (๒๒)

 

นิสิตหญิง แม้จะต้องอยู่ในเครื่องแบบนิสิตที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ได้ทรงพระราชทานไว้ ก็แตกต่างกันในเรื่องระดับความสั้น-ยาว ของกระโปรง ใหญ่-เล็ก ของเสื้อ เครื่องแบบ ทรงผมที่จะมีเครื่องประดับ ที่จะแข่งขันกันให้สวยงามแตกต่างผิดแผกกันไปต่าง ๆ นานาตามกระแส

“ส่วน “ฟ้าหญิง” ทรงไว้เปียยาว และทรงไว้พระเกศาอยู่ทรงเดียวตั้งแต่ทรงเรียนปีหนึ่ง จนวันที่ทรงรับปริญญา... ไม่เฉพาะเรื่องพระเกศาเท่านั้นที่กระหม่อมทรงเหนียวแน่นไม่ทรงเปลี่ยนรองพระบาทฉลองพระองค์ แฟ้มกระเป๋าและข้าวของเครื่องใช้ ปากกาดินสอ พระองค์ก็ทรง “เดิม ๆ” อยู่ทั้งสิ้น ยิ่งดินสอเมื่อทรงใช้งานแล้ว จะทรงหากระดาษมาม้วนให้ยาว เพื่อจะได้ใช้ให้จนหมดจริง ๆ เลยกลายเป็นแฟชั่นที่พวกเราทำตามมั่ง. (๒๓)

 

ทรงปฏิบัติตาม “ประเพณี” การรับน้องของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยพระพักตร์ “เปื้อนยิ้ม” ด้วยความเบิกบาน ทรงลอดซุ้มวิบาก ทรงร่วมบูมจุฬาฯ ทรงเล่นลิเกตามที่รุ่นพี่เรียกร้อง การรับน้องใหม่ปีนั้นตรงกับ วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๑๖ ... ในตอนแรกพวกน้องใหม่ไปรวมตัวกันที่หอประชุมใหญ่ เพื่อทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ น้องใหม่โดยเป็นงานที่คณาจารย์จัดขึ้นเพื่อนิสิตใหม่ให้เป็นสิริมงคล ปีนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรฯ ทรงเป็นตัวแทนของคณะของเราด้วย ... ใครต่อใครพากันแห่มาดูที่คณะอักษรฯ กันยกใหญ่ เพื่อมาดูการรับน้องใหม่คนสำคัญ

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรฯ เสด็จฯ มาทรงร่วมงานรับน้องใหม่ด้วยความเบิกบานพระทัย... พระพักตร์ “เปื้อนยิ้ม” อยู่ตลอด... มีอยู่ซุ้มหนึ่งพระองค์ถูกรุ่นพี่ให้เล่นลิเก ทูลกระหม่อมก็เลยทรงแสดงเป็นพระเจ้าตา ในลิเกเรื่อง “จันทโครพ” คนดูหัวร่อกันงอหงาย
หลังจากนั้นทรงได้รับมาลัยนํ้าใจและช่อดอกไม้จนล้นหลาม ส่วนที่คณะอักษรฯ เอง ทูลกระหม่อม ทรงลอดซุ้มวิบากของรุ่นพี่ ซึ่งเป็นซุ้มที่ยาวและแคบเอาการ พอพ้นออกมาแล้วยังต้องทรงเป่าลูกโป่งอีก (๒๔)

 

“... วิธีเรียนของทูลกระหม่อม บางทีจึงเป็น “การเรียนด้วยเทปาจารย์” คือ “ส่งคนมาอัดเทปไปฟังเวลาอยู่ต่างจังหวัด” ทูลกระหม่อมทรงส่งการบ้าน รายงานและทรงเข้าสอบเหมือนนิสิตอื่น ๆ ทูลกระหม่อมทรงเคยเขียนไว้ว่า “การเรียนด้วยเทปาจารย์นั้น ไม่สนุกเหมือนเรียนกับอาจารย์จริง ๆ ถามก็ไม่ได้ ไม่เห็นภาพ ไม่เห็นกระดาน... กว่าจะได้รับเทปก็หลายวัน เคราะห์ดีมีพวกเพื่อนช่วยเก็บเอกสารช่วยจดให้ เวลากลับกรุงเทพฯ ก็ช่วยสอนช่วยติวให้”... (๒๕)

 

“ทูลกระหม่อมทรงเริ่มบทประพันธ์ต่าง ๆ เมื่อพระชนม์มายุได้เพียง ๑๒ ปี และที่สำคัญรู้จักกันดีคือ “พุทธศาสนสุภาษิตคำโคลง” ซึ่งทรงได้มาจากภาษาบาลี และเรื่อง “กษัตริยานุสรณ์” ทรงทูลเกล้าถวาย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนารถ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ประจำปี ๒๕๑๖ ซึ่งขณะนั้นพระชนม์มายุ ๑๘ ปี และทรงเป็นนิสิตแล้ว” (๒๖)

 

นอกเหนือจากการทรงศึกษาเล่าเรียนแล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ ยังทรงสนพระทัยเข้าร่วมในกิจกรรมและชมรมต่าง ๆ หลายชมรม
“ทูลกระหม่อมทรงสมัครเข้าเป็นสมาชิกชมรมต่าง ๆ ... ทรงสนพระทัยกิจกรรมหลายอย่าง ชมรมที่ทรงเข้าร่วมด้วยคือ ชมรมดนตรีไทย และชมรมวรรณศิลป์... เมื่อทูลกระหม่อม ทรงเข้าเป็นสมาชิกชมรมดนตรีไทย กระแสความสนใจในดนตรีไทยได้หลายชนิดทั้งระนาดเอก ซอด้วงและอื่น ๆ อีก แต่ที่เห็นทรงโปรดซอด้วงเป็นพิเศษ ... ทางราชการก็เริ่มหันมาสนับสนุนดนตรีไทย... เรียกว่าดนตรีไทย ได้แจ้งเกิดอีกหนก็เพราะทูลกระหม่อมแท้ ๆ” (๒๗)

 

“... ที่คณะ โดยทรงสมัครเข้าเป็นสมาชิกชมรมภาษาไทย ชมรมภาษาตะวันออกและชมรมประวัติศาสตร์ และยังทรงเป็นกรรมการจัดหาเรื่องลงพิมพ์ในหนังสือ “อักษรศาสตร์พิจารณ์” ของชุมนุมวิชาการคณะอักษรศาสตร์ด้วย ... ทำให้หนังสือ “อักษรศาสตร์พิจารณ์” มีเรื่องดี ๆ จากนักเขียนที่มีคุณภาพมาลงตีพิมพ์มากมาย...” (๒๘)

 

"การจัดพิมพ์หนังสือประจำปีได้นั้น พวกเราทุกคนต้องช่วยกันหาคำพิมพ์หนังสือ ด้วยวิธีการออกหาสปอนเซอร์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรฯ ทรงช่วยหาสปอนเซอร์ เช่นเดียวกับพวกเราเหมือนกัน..." (๒๙)

 

“ส่วนกีฬาที่สนุกมากก็ต้องกีฬาภายในคณะของพวกเราเอง... สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรฯ” ทรงร่วม “แจม” ด้วยหลายรายการ เช่น แชร์บอลล์ และชักเย่อ แถมทรงมีแรงดี เพราะท่านออกกำลังบ่อย ๆ จนอยู่พระองค์แล้วนั่นเอง และยังทรงชอบ “ลุย” อีกด้วย

ทูลกระหม่อม ทรงเป็นคนน่ารัก และทรงคิดถึงคนนั้นคนนี้อยู่รํ่าไป ทรง “หอบ” ของฝากมาให้พระอาจารย์และเพื่อนฝูงอยู่บ่อย ๆ ชอบสนุก และทรงมีพระอารมณ์ขันมาก...เพิ่งเสด็จฯ กลับมาจากปักษ์ใต้ ทรงนำลูกหยีกวนกับกาละแมมาประทานพระสหายและพระอาจารย์ ไม่รู้ว่าไปยังไงมายังไงท่านถึงได้ทรงเล่าเรื่องผีที่พระตำหนัก ขันมาก เป็นผีคนงานที่มาก่อสร้างพระตำหนักแต่จำไม่ได้แล้วว่าเรื่องเป็นอย่างไร จำได้แต่ว่าพอเลิกเรียนฟ้าก็มืดเพราะเย็นมากแล้ว และตึกเรียนที่คณะก็ยังกะปราสาทขอม ผู้คนพากันกลับบ้านเสียส่วนมากแล้ว... พวกเราทั้งหมดเดินเกาะกันแจ... กลัวก็กลัวแต่ก็ไม่วายชอบคะยั้นคะยอให้ท่านทรงเล่าเรื่องผีประทานอีกบ่อย ๆ... ( ๓๐)

 

“....สมเด็จพระบรมฯ เพิ่งเสด็จกลับจากทรงศึกษาที่ประเทศออสเตรเลีย เสด็จฯ มารับพระขนิษฐาที่คณะฯ เป็นภาพที่น่ารักเหลือเกินหาไม่ได้อีกแล้ว ... ทรงมีพระปฏิสันถารกับพระอาจารย์และคนอื่น ๆ เล็กน้อย อาจเพราะทรงเก้อเขินที่มีผู้หญิงมาล้อมท่านมากมาย ดู ๆ ไปก็เหมือนเวลาพี่ชายมาเจอเพื่อนน้องสาวหลาย ๆ คน ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะเขิน... (๓๑)

 

ทางดำเนินชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยแบบเดียวกับนิสิตอื่น ๆ เลี้ยงหมาโรงอาหาร มีอะไรที่ไหนอร่อย น่ากิน ก็จะเสด็จฯ ลองซื้อลองเสวย จนเป็นที่ปลาบปลื้มของบรรดา พ่อค้า แม่ขาย ที่จดจำเล่าขานกันไปทั่ว ชั่วลูกชั่วหลาน
“...สิ่งที่คู่กับโรงอาหารที่ไหน ๆ ในประเทศไทยก็คือหมา... ทูลกระหม่อมทรงมีพระเมตตากับเหล่าหมา โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ เพศ พันธ์และคณะ หมาบางตัวอยู่ในวรรณะ วัณฑาลทีเดียว เพราะเป็นขี้เรื้อนไปทั้งตัว แต่ท่านก็ทรงเมตตา... ฉะนั้น เวลาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรฯ เสด็จฯ ไปข้างในที่คณะ มันก็จะมาคอยตามเสนอหน้ากันเป็นพรวน...” (๓๒)

 

“...ร้านกล้วยปิ้งบัญชีนี้ดังมาก... สิ่งที่คนขายแกปลื้มมากคุยไม่หยุด คือ ร้านของแกได้มีโอกาสรับเสด็จฯ นิสิตสมเด็จกับพระสหาย เหมือนไม่ว่ามีอะไรตรงไหนในจุฬาฯ ที่นิสิตเขาเห่อกัน ทูลกระหม่อมเป็นต้องเสด็จฯ ไปทรง “เห่อ” กะเขาเหมือนกัน ยังความปลาบปลื้มให้แก่ใครต่อใครในจุฬาฯ ยิ่งนัก... ใครเขากินอะไรท่านก็เสวยได้ นอกจากพระกระยาหารเที่ยงที่ทรงผูกปิ่นโตกับทางวังเท่านั้น ถ้าทรงสบโอกาสก็เป็นต้องทรง “แอบ” ไปหาอะไรเสวยอยู่รํ่าไป
เล่าลือกันว่า ทูลกระหม่อมเคยเสด็จไปทรงอุดหนุน เทียมมี ทำให้ปลาบปลื้มซะยิ่งกว่าถูกหวย เพระเมตตาของพระองค์ที่หาไหนจะได้เหมือน ไม่มีแล้วในโลกจริง ๆ (๓๓)

 

การออกทัศนศึกษานอกสถานที่ตามวิชาที่เรียนก็โปรดเสด็จฯ ด้วย โดยมีพระเมตตาให้พระสหายร่วมชั้นเรียนได้นั่งไปในรถพระที่นั่งและรถตามเสด็จด้วย
‚...ครั้งหนึ่ง กลุ่มที่เรียนประวัติศาสตร์ด้วยกัน ต้องออกกไปดูศูนย์คอมพิวเตอร์ของ IBM แถวสีลม เนื่องจากเป็นกลุ่มย่อยเลยทรงมีพระเมตตารับสั่งให้นั่งรถพระที่นั่งและรถตามเสด็จไปกันเป็นขบวน ไม่เช่นนั้นจะต้องกลายเป็นแบบต่างคนต่างไป เสียเวลาเปล่า ๆ เบียดกันไปในรถของพระองค์ท่านนั้นแหละสนุกดี…
...หลายคนสงสัยว่า....ตอนทรงเป็นนิสิตนั้น ถามอย่างชาวบ้าน ๆ ก็ว่า “ แล้วท่านกินอยู่วุ่นวายบ้างไหม จริง ๆ แล้วทูลกระหม่อมท่านทรง “ธรรมด๊า ธรรมดา” (๓๔)

 

“...เคยมีเพื่อนฝูงผู้หลักผู้ใหญ่เป็นจำนวนมากแอบกระซิบถามว่า แล้วสมเด็จพระเทพฯ เก่งจริงหรือเปล่าซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าสงสัยอยู่สำหรับคนนอกทั่วไป แต่ถ้าได้อ่านพระนิพนธ์ของพระองค์ท่านทั้งร้อยแก้วร้อยกรอง แล้วผลงานเหล่านั้นย่อมพิสูจน์ตัวเองว่า ผู้เขียนทรงเป็นนักอักษรศาสตร์ที่ทรงอัจฉริยะภาพยิ่ง...” (๓๕)

 

"....การสอบหลัก ๆ ของคณะอักษรศาสตร์นั้นมีวิธีเดียว คือ เขียนและเขียนเท่านั้น...คนที่เขียนเก่งประจำรุ่นมีหลายคนและหนึ่งในนั้นรวมเอา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรฯ เข้าไปด้วย... ข้อสอบมักมีความยาวแค่ครึ่งหน้ากระดาษเท่านั้น ประกอบด้วยคำถามสีหรือห้าข้อสั้น ๆ...
การตอบข้อสอบนั้น เค้าข่มขวัญกันตามจำนวนเล่มของคำตอบที่ส่งอาจารย์ และผู้ที่ข่มขวัญเพื่อนที่สุด คือ “ทูลกระหม่อม” (๓๖)

 

และแล้วในปี ๒๕๒๐ สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ทรงสำเร็จการศึกษา ได้รับปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง ด้วยคะแนนเฉลี่ย ๓.๙๘ เป็น “สมเด็จเจ้าฟ้า” องค์แรกที่เป็นบัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เสด็จพระราชดำเนินไปร่วมฉายพระรูปกับพระสหายและเมื่อทรงพระราชทานปริญญาเสร็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ, สมเด็จพระบรมโอรสาฯ, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ และพระเจ้าวรวงค์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี เสด็จฯ มาร่วมฉายพระรูปที่บันไดนาค เช่นเดียวกับบัณฑิตอื่น ๆ

 

ต่อมา ทรงเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท ด้านจารึกภาษาตะวันออก (บาลี สันสฤตและภาษาเขมร) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ทรงทำวิทยานิพนธ์ เรื่อง “จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง” ทรงรับพระราชทานปริญญามหาบัณฑิตในปี ๒๕๒๒

ปี ๒๕๒๔ ทรงเข้ารับพระราชทานปริญญาอักษรศาสตร์ มหาบัณฑิตในสาขาวิชาภาษาบาลีและสันสกฤต โดยทรงทำวิทยานิพนธ์ ชื่อ “ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท”

ปี ๒๕๒๙ ทรงสำเร็จการศึกษาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนศึกษา จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ทรงทำวิทยานิพนธ์ เรื่อง “การพัฒนานวัตกรรมเสริมทักษะการเรียนการสอนภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย”