พระราชทานสัมภาษณ์พิเศษ “ความทรงจำในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”
ในงาน '๙๐ ปี จามจุรีรวมใจ‛ หรืองานคืนสู่เหย้าชาวจุฬาฯ เนื่องในวันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครบรอบ ๙๐ ปี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานสัมภาษณ์พิเศษบนเวทีในงานดังกล่าวโดยมีเนื้อความที่มิได้ตัดต่อดังต่อไปนี้
"ตอนที่เข้ามาเป็นนิสิตก็ลำบากเต็มทน เพราะว่ามันก็คงแปลก เป็นเจ้านายงานการเยอะแยะ จะมัวมาเรียนอยู่ทำไม แต่ว่าก็เห็นมีอยู่ในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ใครเอาแปะไว้ในจุฬาฯ ว่าท่านมีพระราชปณิธานให้คนทุกคนในราชอาณาจักรลูกหลานของท่านมาถึงประชาชนทุกคนให้มีโอกาสได้เล่าเรียนเสมอกัน เหลนของท่านก็ควรจะมีโอกาสได้เล่าเรียนเหมือนกัน
ตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าอาจจะกระทำไม่สมควรคือ แทนที่จะบนเหมือนคนอื่นเขา หรือใช้วิธีต่างๆ ก็กลับไปต่อรองท่าน บอกว่าเคยเห็นว่าท่านมีพระราชดำรัสดังกล่าว ถ้าเห็นว่าเป็นคนมีศักยภาพ ควรจะเข้าเรียน คือภาษาสมัยใหม่เรียกว่าต้นทุนเสียโอกาส คือเสียเวลาทำงานอื่นๆ มาเรียนซะหน่อย ต่อไปจะสามารถทำหน้าที่การงานได้ดียิ่งขึ้น ถ้าท่านเห็นสมควรก็ให้เข้าได้ จากนั้นก็สอบเข้าจุฬาฯ ได้ อันนี้คือเคล็ดลับที่ทำให้เข้าจุฬาฯ ได้
พอเข้ามาถึงในสมัยนั้นรุ่นพี่ก็อบรมว่าการที่สอบเข้ามาได้ อย่าถือว่าเป็นคนรํ่ารวย เสียเงินค่าหน่วยละ ๒๕ บาท ก่อนหน้านี้ยังมีค่าธรรมเนียมและค่าอื่นๆ อีก และเทอมนึงมี ๑๘ หน่วยกิต อย่าคิดว่าเป็นคนรํ่ารวยของตัวเอง อย่าคิดว่ามีเงินจ่าย ประชาชนทั้งหลายเลือกให้เรามาเป็นตัวแทนศึกษาเล่าเรียน ก็ขอให้ตั่งใจในการศึกษาหาความรู้หาความชำนาญในงานต่างๆ เพื่อต่อไปจะให้ออกมารับใช้เขา
เป็นเรื่องที่ยํ้าแล้วยํ้าอีก ตอนเข้ามาเรียนก็ยากลำบากเหมือนกัน เพราะถึงยังกฎเหล็กก็ยังอยู่ เพราะต้องเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย สมัยนี้เขามีการเรียนทางไกลทางวีดีโอ สมัยนั้นยังไม่มี ทางครู อาจารย์ เพื่อนๆ รุ่นพี่ก็รู้สึกจะลุ้นกันเต็มที่ เข้าใจว่าเขาก็อยากให้เรียน ก็เลยขอให้ผู้ปกครองสมัยนั้นคือ ท่านราชเลขา คือ ท่านผู้หญิงสุประภาดา เขียนหนังสือยื่นคำร้องต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเกี่ยวกับเรื่องเวลาเรียนอาจจะไม่ถึง ๘๐% แต่รับรองว่างานการทุกชิ้นส่งครบ การสอบจะสอบครบทุกอย่างไม่ผิดกฎของจุฬาฯ และมหาวิทยาลัยก็ยอมให้
แล้วถ้าไม่ได้ไปไหนก็จะมาเรียน และทำกิจกรรมทุกอย่างที่เข้าร่วมหมด ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะอยู่คณะไหน ภาควิชาไหน ก็จะเข้าร่วมทั้งหมดก็มีความรู้สึกว่าได้ประสบการณ์ดี มีความคิดว่าตอนนั้นคงมีเงินไม่พอสำหรับหน่วยกิตละ ๒๕ บาท ก็คิดว่าต้องเอาเงินเก็บเงินสะสมออกไปก่อน แต่ตอนหลังก็ได้มาเดือนละ ๓๐๐ บาท หมายความว่า ค่าหน่วยกิตทั้งหมดและก็ค่าใช้จ่าย ค่าสมุด ค่าหนังสือ ตลอดการศึกษาก็จะต้องสะสมไว้ ถ้าเหลือจึงจะกินขนม หรือใช้อย่างอื่น ยิ่งเป็นคนกว้างขวาง คุ้นเคยกับคนขายขนมก็เลยต้องอุดหนุนเขาบ้าง
ส่วนการปฎิบัติตนก็เหมือนคนทั่วไปนอกจากว่าจะหายไป ก็หายไปอยู่ทางภาคเหนือบ้าง ภาคใต้บ้าง คือสมัยก่อนไปแล้วก็ไม่สามารถดูติดต่อได้ ต้องให้เพื่อนเขียนจดหมายเล่าให้ฟัง เพราะเมื่อก่อนนี้ไม่มีหนังสือพิมพ์ที่เขียนสรุปละครนํ้าเน่าให้ด้วย ต้องให้เพื่อนสรุปละครนํ้าเน่าส่งมาให้ พูดวิชาการบ้างดีกว่า ก็มีคนมาอัดเทป เมื่อไม่มีเทปภาพ ก็มีเพื่อนช่วยจดคำต่างๆ ที่อาจารย์ใช้ภาษาใบ้เขียนไปบนกระดาน ไม่ยอมพูด
หรือบางทีต้องรู้จักกิริยาท่าทางของอาจารย์ บางทีเขาก็แอบวงเล็บเขียนภาพไว้ด้วย เช่น ตอนนี้ทำตาขวางแล้ว ตอนนี้ไปไงมาไง อาจารย์เองก็ชักสะลึมสะลือ หรืออะไรต่างๆ ก็มีหมายเหตุบอกมาบ้างซึ่งมันก็ท้าทายเหมือนกัน เพราะว่าคงไม่ค่อยเหมือนคนอื่นเขาเท่าไหร่ เพราะเวลาต้องออกพื้นที่ไป กลับมาก็ต้องทำรายงาน เพราะรายงานพวกนี้ต้องเสร็จก่อน เพราะว่าไม่ค่อยชำนาญเรื่องการใช้หูฟัง ก็ต้องจดลงมาจากเทป แล้วก็ใช้เวลาในการทำการบ้านแล้วก็ส่งเมล์ สมัยก่อนก็ไม่ได้มีเมล์ทุกวันเค้ามีเมล์สัปดาห์ละ ๒ ครั้ง ก็ต้องส่งให้ทันก็กะดักกะเดิดเหมือนกัน แต่ว่าคิดว่าดี เพราะว่าถ้าเรียนง่ายเกินไป
สงสัยจะไม่เรียน เพราะเป็นคนที่ชอบทำอะไรตรงข้ามกับใครเขา ถ้าเขาง้อให้เรียนคงไม่เรียน แต่ถ้าลำบากคงเรียนแต่พอกลับจากที่ต่างๆ ก็ต้องมีของมา จะเรียกว่าติดสินบนก็ได้เพราะนอกจากจะติดสินบนเพื่อนแล้วก็ต้องติดสินบนทั่วๆ ไปแม้กระทั่งภารโรง เพราะเวลาเพื่อนกินก็กินด้วยกัน อาจจะทำให้เกลื่อนได้ ตอนแรกภารโรงจะไม่ชอบใจ แต่ถ้าให้เขาด้วยเขาก็ออกจะชอบใจขึ้น
ความประทับใจในตอนเรียน ก็คงจะสนุกเรื่องกินนี่แหละ เพราะเมื่อก่อนใครมีอะไรก็เอามากินนี่แหละ มีอะไรก็แบ่งๆ กัน อย่างเมื่อก่อนมีไอติมยักคู่ ก็แบ่งกันคนละครึ่งแล้วเวลามีเชียร์ก็เชียร์กะเขา แต่ไม่เคยรู้ทำนองที่ถูกต้องเลย เพราะคนสอนเขาไม่เคยสอนทำนองที่ถูกต้อง เพราะการที่ออกไปเนี่ย บางครั้งเราก็ไม่รู้สึกตัวว่าได้เรียนรู้อะไร ซึ่งบางทีก็ไม่ได้อยู่ในชั้นเรียน แต่ว่าก็เก็บๆ เอา หรือไปต่างประเทศ เขาก็ถามเหมือนกันว่าเรียนจบอะไรมา บอกว่าจบอักษรศาสตร์ บอกว่าบางคนพูดรู้เรื่อง พอเสร็จแล้วเขาก็ลืมไปแล้วว่าเขาบอกเรา เราก็สวนเข้าไป เขาบอกเรามีความรู้มาก นี่ก็คืออ่านได้ ฟังได้ภาษา อันนี้ไม่ใช่เฉพาะคณะอักษรศาสตร์คนที่เรียนคณะอื่นก็ต้องฟังให้ได้คิดได้ และต้องแสดงออกได้ พอออกไปเที่ยวข้างนอกแล้วได้เห็นก็เลยอยากทำให้จุฬาฯ นี่ดีได้ ความจริงจุฬาฯ เป็นหน่วยงานที่ทำงานกันอยู่ตัวแล้วสามารถผลิตบุคลากรได้ ไม่ใช่เฉพาะให้คนไทยนะ ผลิตให้แก่โลกได้ด้วยเพราะฉะนั้นก็มีคุณค่า คุ้มค่าที่จะลงทุน การลงทุนที่จุฬาฯ ถือว่าลงทุนถูกต้อง อย่าไปจำกัดจุฬาฯ จะได้น้อย (๓๗)"